วันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2554

คาบที่ 3 - ทำความเข้าใจกับตัวแปร

ASboy: ครูคร้าบ ทำไมอยู่ๆ ตัวแปรมันกลายเป็นชื่อของวัตถุในจักรวาลล่ะคร้าบ งงครับผม

อืม สงสัยครั้งที่แล้วอธิบายเร็วไปหน่อย งั้นมาต่ออีกนิด เพราะถ้ามองไม่เห็นภาพรวมในตอนนี้ แล้วจะทำความเข้าใจยาก

ก่อนอื่น เมื่อเปิดโปรแกรมแฟลชขึ้นมา บริเวณขาวๆ ตรงกลางจอ หรือก็คือ stage ที่เอาไว้ใช้สร้างงาน หรือลากวางวัตถุต่างๆ มันเปรียบเสมือนพื้นที่ว่าง (space) ซึ่งครูจะขอเรียกรวมว่าจักรวาลหรือก็อวกาศ (space) นั่นแหละ หยวนๆละกัน จริงๆแล้วมันก็คืออวกาศในโลกของโปรแกรมนั่นเอง โดยผู้ใช้โปรแกรมจะทำหน้าที่เป็น พระเจ้า ที่สามารถรังสรรค์ หรือสร้างสรรค์ อะไรก็ตามที่ตนต้องการได้ทั้งหมด ดังนั้น ในการสร้างวัตถุชนิดหนึ่งขึ้นมาในอวกาศอันว่างเปล่านั้น เพื่อให้วัตถุชิ้นนั้นทำงานตามที่เราต้องการ เราจึงต้องตั้งชื่อให้มัน หรือก็คือการสร้างตัวแปรนั่นเอง โดยการใช้งานจะมีรูปแบบดังนี้

who
what
how

หรือก็คือ ใคร ทำอะไร อย่างไร
สมมติว่า คุณเปิดโปรแกรมแฟลชขึ้นมา คุณสร้างตัวแปรชื่อ ไก่ขึ้นมา แล้วอยากให้ไก่ ออกไข่ ทุกวัน ดังนั้น รูปแบบมันจะเป็นดังนี้คือ
ใคร-ไก่ ทำอะไร-ออกไข่ อย่างไร-ทุกวัน นี่คือรูปแบบการทำงานของแฟลช ซึ่งในขั้นแรกนี้ เรายังอยู่ในขั้น ใคร เพราะเราจะสร้าง ใครขึ้นมา

ASboy: อ้าว ครั้งที่แล้วครูบอกว่า ตัวแปรมันคือ "ชื่อ" ไม่ใช่หรือครับ ทำไมเ่ท่าที่ฟังดู ตัวแปรมันเหมือนวัตถุที่มีชื่อกำหนดมากกว่า

อ่อ ครับ โทษทีที่ไม่อธิบายให้เคลียร์ ง่ายๆ นะ ที่ผมบอกว่าตัวแปรมันเป็นชื่อ เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพนั่นเอง เพราะตัวแปรที่สร้างขึ้นมา ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นวัตถุเสมอไป สมมติว่า ตัวแปรตัวต่อมาที่ผมจะสร้างคือ การขัน การขันของไก่นั่นแหละ มันไม่ใช่วัตถุ แต่มันมีชื่อ เข้าใจไหมเนี่ย บางอย่างที่สร้างตัวแปรขึนมา อาจเป็นแค่ ประโยคที่ไม่ได้แสดงออกมาในจักรวาลด้วยซ้ำ แต่มันก็สร้างได้ ดังนั้น เพื่อความเข้าใจถึงความกว้างขวางของตัวแปร ผมจึงกล่าวรวมว่า มันเป็นแค่ "ชื่อ" ซึ่งอาจเป็นวัตถุหรือไม่ก็ได้ การเรียกตัวแปรว่าชื่อ จึงค่อนข้างใกล้เคียงกว่านั่นเอง

ในการสร้างตัวแปรขึ้นมาในลักษณะวัตถุ เช่น สร้างตัวแปรชื่อโลก โดยให้มีชนิดของตัวแปรเป็น โลก แบบโลกของเรา ในโลกที่สร้างขึ้นเป็นตัวแปรนั้น เราสร้างตัวแปรภายในโลกได้ เช่นเราสร้างตัวแปรชื่อประเทศไทยภายในตัวแปรโลก เช่น

กำหนดให้ โลก เป็น Movieclip (ในการสร้างตัวแปร โปรแกรมจะอนุญาตให้ใช้แต่ภาษาอังกฤษเท่านั้น แถมยังขึ้นต้นด้วยตัวเลขหรือสัญลักษณ์พิเศษบางอย่างไม่ได้ บางคราวถ้าชื่อเราไปซ้ำกับชื่อของตัวแปรหรือคำสั่งสำเร็จรูปที่โปรแกรมมีอยู่แล้วก็สร้างตัวแปรชื่อนั้นไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องสร้างชื่อตัวแปรที่ระวังสักเล็กน้อยด้วย จะสร้างชื่อตัวแปรอย่างไรนั้น จะสอนในบทต่อไป)

เมื่อโลกถูกสร้าง เราอยากสร้างประเทศไทยในโลก เราก็สามารถสร้างได้

แต่นี่เป็นกรณีพิเศษ นั่นคือ Movieclip นั้นเป็นตัวแปรที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอด เราจึงกำหนดค่าตัวแปรได้เลย โดยใช้จุดฟูลสต๊อบคั่นกลางระัหว่างตัวแปร เช่น

var earth:MovieClip;
earth.thailand = "civil war";

นั่นคือ ประเทศไทย ที่อยู่ในมูฟวี่คลิ๊ปชื่อ โลก มีค่าเท่ากับ "civil war" หรือภาษาไทยว่า สงครามกลางเมือง
จากที่ดู ตัวแปร thailand จะมีชนิดของตัวแปรเป็น String หรือข้อความ เพราะ ในการเขียนข้อความ ต้องใส่ในเครื่องหมาย "" หรือเครื่องหมายคำพูดเสมอ

ส่วนชนิดตัวแปรอื่นๆ ก็จะมีการใช้งานที่แตกต่างกันไป ดังนั้น เพื่อให้ทำความเข้าใจง่ายขึ้น บทต่อไป จะเข้าสู่เรื่อง ชนิดของตัวแปร
เพราะต่างชนิดกัน ตัวแปรก็ต่างกัน มีค่าต่างกัน งั้นมาสรุปกันก่อนสำหรับวันนี้

สรุป
1. ตัวแปร คือชื่อเรียกแทนอะไรก็ได้ในโปรแกรมแฟลช และเพื่อให้รู้ว่า เราต้องการใช้ตัวแปรนั้นแทนอะไร จึงต้องกำหนดชนิดของตัวแปรไว้ด้วยเพื่อบอกโปรแกรมว่า เราอยากให้ตัวแปรที่เราสร้างขึ้น ทำงานไปในแนวทางไหน จะได้ไม่กินทรัพยากรในการประมวลผลการทำงานมากนัก
2. การตั้งชื่อตัวแปร ต้องเป็นภาษาอังกฤษเ่ท่านั้น และขึ้นต้นด้วย ตัวเลข หรือเครื่องหมายพิเศษเช่น _ ไม่ได้
3. เมื่อเรียกใช้ตัวแปรที่อยู่ภายในตัวแปร ให้เรียกขึ้นต้นด้วยตัวแปรที่ใหญ่กว่าก่อน ตามด้วยจุดฟูลสต้อบ แล้วจึงตามด้วยตัวแปรที่อยู่ภายในตัวแปรนั้น

คราวนี้สั้นไปหน่อย คราวหน้าคงเต็มที่ล่ะนะ แล้วจะลองหาภาพมาประกอบความเข้าใจด้วยละกัน เจอกันครั้งหน้านะเด็กๆ

วันพุธที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2554

คาบที่ 2 – Variable = ตัวแปร ค่าฉงนของจักรวาล

ตัวแปร มันคืออะไร สำคัญไฉน ทำไมต้องรู้จักมัน

ตัวแปร ถ้าเปรียบเทียบกับจักรวาลที่เราอยู่อาศัยแล้วมันก็คือ “ชื่อ” ของสรรพสิ่งนั่นเอง ในจักรวาลนั้น ชื่อเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะจะทำให้เราสามารถยืนยันตัวตนจนกระทั่งรู้ถึงความแตกต่างของสิ่งของสองสิ่งได้ ...ถ้าคุณกล่าวถึงชื่อ “โลก” ในจักรวาลของเรานั่นก็คือ ดาวเคราะห์ดวงที่ 3 ของระบบสุริยะจักรวาล มีน้ำเป็นองค์ประกอบเสียเป็นส่วนใหญ่ เจ้าคำว่า โลก ก็คือ ตัวแปรตัวหนึ่งนั่นเอง เห็นไหมครับ ชื่อนั้นก็คือ ตัวแปร ดังนั้นไม่ว่าจะเป็น หมู หมา กา ไก่ ไข่ อีเห็น บ้านเรือน ประเทศ รัฐบาล ฝ่ายค้าน อำมาตย์ ไมเคิล แจ็คสัน เครื่องบินรบ ชื่อของทุกสรรพสิ่งล้วนคือ ตัวแปร ทั้งหมด

ในแอคชั่นสคริปนั้น ตัวแปรแต่ละตัวก็เปรียบเหมือนชื่อวัตถุในจักรวาล(โปรแกรม)ของแฟลชนั่นเอง ทว่า จักรวาลของแฟลชนั้น ไม่เหมือนจักรวาลของโลกมนุษย์เสียทีเดียว

คำว่า ไก่ ในจักรวาลของแฟลช ไม่จำเป็นเสมอไปว่าจะเหมือนไก่ในจักรวาลของโลกเรา

อ้าว แล้วเราจะรู้ได้ไงว่า ตัวแปร ไก่ ในจักรวาลแฟลชคืออะไร............... ฮึฮึฮึ คำตอบคือ ... ไม่รู้

ดังนั้น เพื่อให้เราสามารถรู้ได้ว่า ไก่ในจักรวาลแฟลชนั้น มันคืออะไร จึงต้องมีการกำหนดคำจำกัดความของตัวแปรไก่ นั่นก็คือ “ชนิดของตัวแปร” นั่นเอง

ในจักรวาลของแฟลช ถ้าคุณสร้างตัวแปรชื่อไก่ เมื่อโปรแกรมทำงาน มันจะรู้จักเพียงชื่อไก่ แต่มันไม่รู้หรอกว่าไก่คืออะไร ทำอะไรได้บ้าง เราจึงต้องมีการกำหนด ชนิดของตัวแปร ขึ้น

ดังนั้น เมื่อเราประกาศว่า ไก่ คือตัวแปรล่ะนะ มีชนิดของตัวแปรเป็น สัตว์ปีกที่บินไม่ได้ ออกไข่วันละหน ขันตอนเช้า บลาๆ นั่นแหละคือการสร้างไก่ขึ้นมาแล้วในโปรแกรมแฟลช เริ่มมองเห็นภาพแล้วใช่มะ รูปแบบการสร้างตัวแปรในโปรแกรมแฟลชมีดังนี้

รูปแบบ var [ชื่อตัวแปร] : [ชนิดตัวแปร] = [ค่าตัวแปรถ้ามี];

ตัวอย่าง var pickHigh:Number = 180;

ความหมาย สร้างตัวแปร ชื่อ pickHigh มีชนิดตัวแปรคือ ตัวเลข ซึ่งมีค่าเท่ากับ 180

ในการสร้างตัวแปรขึ้นมา ต้องประกาศ(ประกาศ ภาษาแฟลชหมายถึงพิมพ์ลงไปในช่องแอคชั่นสคริป)
ประกาศคำว่า var เคาะเว้นวรรค 1 ที แล้วจึงตามด้วยชื่อตัวแปรที่เราต้องการสร้างขึ้นมา
สำคัญ: ตรงนี้สำคัญมากครับ หลังชื่อตัวแปรที่เราต้องการสร้าง จากบรรทัด รูปแบบ จะเห็นว่า หลัง[ชื่อตัวแปร] จะมีเครื่องหมาย โคล่อน (:) คั่น ก่อนจะประกาศชนิดของตัวแปร สำหรับชนิดของตัวแปรนั้น จะใส่ก็ได้ไม่ใส่ก็ได้ พูดง่ายๆ ถ้าไม่ใส่ก็ไม่ต้องใส่โคล่อนนั่นเอง

ASบอย : อ้าว ไม่ใส่ก็ได้เหรอครับครู

ช่ายแล้ว ถ้าจักรวาลของคุณสร้างไก่ขึ้นมา โดยไม่กำหนดว่ามันคืออะไร ทำอะไรได้บ้าง ถามจริงมันจะผิดไหม คำตอบ มันจะผิดได้ไง ก็จักรวาลของคุณอ่ะ ทำอะไรก็เรื่องของคุณดิ เพียงแต่ พอคุณเรียกไก่ไปใช้งาน ไก่คุณอาจกลายร่างหรือทำอะไรแปลกไป สุดท้ายของวิวัฒนาการ มันก็จะไม่ใช่ไก่แบบที่เราเข้าใจ พูดง่ายๆ ถ้าเราไม่กำหนดชนิดของตัวแปรไว้ ตัวแปรเราเมื่อใช้งานทำโน่นนี่มากเข้า สุดท้ายมันอาจจะผิดเพี้ยนไป หรือกลายเป็นอะไรที่เราไม่สามารถควบคุมได้นั่นเอง ดังนั้น จึงใส่ชนิดของตัวแปรเพื่อควบคุมตัวแปรไว้ไม่ให้ออกนอกลู่นอกทางครับ
ส่วนเครื่องหมาย = จะกำหนด “ค่า” ของตัวแปรนั้น ในที่นี้ ตัวอย่างของเรา

ตัวอย่าง var pickHigh:Number = 180;

กำหนดชนิดเป็น ตัวเลข ส่วน ค่า ที่จะกำหนด ก็ต้องสอดคล้องกับขนิดของตัวแปร นั่นคือ ต้องเป็นตัวเลขด้วย แต่ถ้าไม่มีค่า หรือไม่อยากใส่ ก็ไม่ต้องใส่ = เริ่มเข้าใจนิดๆ แล้วใช่มะ แล้วลงท้ายด้วยเครื่องหมาย “;” หรือเซมิโคล่อนนั่นเอง เพื่อบ่งบอกว่า เราประกาศเรื่องนั้นเสร็จแล้ว

ทุกครั้งที่มีการประกาศ ต้องลงท้ายด้วยเครื่องหมาย เซมิโคล่อนทุกครั้ง เพื่อให้โปรแกรมรู้ว่า เราประกาศเรื่องนั้นเสร็จแล้ว
ดังนั้น พูดให้ง่าย การสร้างชื่ออะไรในจักรวาลแฟลชสักอันหนึ่ง ให้ใช้คำขึ้นต้นว่า var แล้วตามด้วยชื่ออย่างอิสระ จะมามีปัญหาก็ตรงการกำหนดชนิดของตัวแปรนี่เอง เพราะค่าที่ใส่ต่อจากนั้น จะขึ้นตรงกับชนิดของตัวแปรเสียด้วย

ชนิดของตัวแปร โดยปรกติ โปรแกรมแฟลชจะมีชนิดของตัวแปรสำเร็จรูปไว้ให้เราใช้บ้างแล้ว เช่น

Number คือ ตัวเลขที่มีจุดทศนิยมด้วย, int คือ ค่าจำนวนเต็ม ไม่มีทศนิยม, Boolean ค่าทางตรรกศาสตร์ มีแค่ true และ false (จริงกับเท็จเท่านั้น), Sprite ลักษณะเป็นกระดาษแผ่นหนึ่ง ที่สามารถวาดรูปอะไรลงไปก็ได้, Movieclip คือsprite หลายๆแผ่นมาต่อกัน เหมือนเวลาเราทำการ์ตูนขอบสมุด เมื่อเปิดเร็วๆแล้วจะเกิดภาพเคลื่อนไหว เจ้ามูฟวี่คลิปก็สำหรับกำหนดตัวแปรว่าให้เป็นภาพเคลื่อนไหวนั่นเอง ฯลฯ

ทั้งนี้ เรายังสามารถสร้างชนิดของตัวแปรได้เองตามอิสระด้วย ซึ่งเราจะเรียกมันว่า คลาส (Class) โดยจะพบได้ในบทหลังจากนี้
เข้าใจเกี่ยวกับการสร้างตัวแปรมากขึ้นแล้วหรือยัง

เอาล่ะเรามาทบทวนกันก่อนดีกว่า ความรู้ที่ได้จากคาบนี้คือ

1. ตัวแปร ก็คือชื่อของตัวอะไรก็ตามตัวหนึ่งในโปรแกรมแฟลช โดยเราสามารถกำหนด ชนิดและค่าของมันได้อย่างอิสระ
2. ในการสร้างตัวแปรขึ้นมาตัวหนึ่ง จะเริ่มต้นด้วยคำว่า var แล้วตามด้วยชื่อตัวแปร : แล้วจึงกำหนดชนิดของตัวแปร
3. ตัวแปรสามารถกำหนดค่าได้โดยใช้เครื่องหมาย = แล้วจึงตามด้วยค่าที่ต้องการกำหนด
4. ในการประกาศตัวแปร หรือจะประกาศอะไรก็ตาม ถ้าจบประโยคแล้ว ลงท้ายด้วย ; เสมอ


งั้น เรามาลองทำแบบฝึกหัดกันดีกว่า เพื่อจะได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น

1. ให้สร้างตัวแปรชื่อ potter โดยมีชนิดของตัวแปรเป็น Boolean ทำอย่างไร

-เฉลย var potter:Boolean;

2. จากตัวแปร potter ให้กำหนดค่าเป็น true

-เฉลย potter = true;

หลายท่านคงสงสัย อ้าว var หายไปไหน ชนิดของตัวแปรด้วย Boolean อ่า นั่นก็เพราะ โจทย์บอกว่า จากตัวแปร potter นั่นหมายถึง เอาตัวแปรที่สร้างมาแล้วมากำหนดค่า เมื่อมันมีตัวแปรสร้างแล้ว คุณจะสร้างใหม่ทำไมล่ะ ก็เอาของเดิมนั่นแหละมาใช้ เมื่อสร้างแล้ว และเพราะเรากำหนดชนิดของตัวแปรตอนสร้างไปแล้ว จึงไม่ควรกำหนดใหม่ ให้ใช้ชนิดของตัวแปรเดิมไปตลอดชีวิต แต่ “ค่า” ของตัวแปรนั้น สามารถเปลี่ยนไปมาได้ตลอด ดังนั้นมันจึงเหลือแค่ ชื่อตัวแปร = ค่า; เท่านั้น

3.จงสร้างตัวแปรตามชื่อวัน และกำหนดชนิดของตัวแปรเป็น Days

- เฉลย var monday:Days; var tuesday:Days; var wednesday:Days; var thursday:Days; var friday:Days;
var saturday:Days; var sunday:Days;

ทั้งนี้ ชนิดตัวแปร Days ไม่ใช่ตัวแปรสำเร็จรูปในโปรแกรมแฟลช เราจึงต้องสร้างมันขึ้นมาทีหลัง เพื่อให้โปรแกรมแฟลชรู้ว่า ชนิดของตัวแปร Days มันคืออะไร แต่ตอนนี้ยังไม่ต้องทำหรอก ขอแค่รู้ไว้ก็พอ


ดังนั้น ในการสร้างตัวแปร ชนิดของตัวแปรถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด และมันก็มีมากมายหลายชนิดเสียด้วย ในคาบหน้า จะเริ่มดึงเอาชนิดของตัวแปรทีละตัวมาทำความรู้จักกันนะครับ เจอกันใหม่คาบหน้าครับ


By ครูปิ๊ก

คาบที่ 1 - AS 3.0 = แอคชั่นสคริปเวอร์ชั่น 3.0

แอคชั่นสคริป คือภาษาที่ใช้ในการควบคุมการทำงานของโปรแกรม Flash ซึ่งปัจจุบันมาถึงเวอร์ชั่น 3.0 แล้ว

ในส่วนของแฟลชนั้นก็สามารถทำงานได้หลายอย่าง เช่นการทำสื่อการสอน การทำพรีเซนต์เตชั่น ทำอนิเมชั่น ทำของแต่งเว็บ หรือกระทั่งทำเกม โดยเฉพาะที่โด่งดังก็เช่นเกมในเฟซบุ๊ค ของเขาดีของเขาแรง แล้วทำไมเราไม่สนใจเรียนรู้เกี่ยวกับแอคชั่นสคริปกันหน่อยล่ะคร้าบ ว่าแล้ว ก็ไปเข้าคาบเรียนของครูปิ้กกันเลยดีกว่า


อ๊อดดดดด (ออดเข้าเรียนดังขึ้น)

ครูปิ๊ก: สวัสดีทุกท่านที่เคารพ ในที่สุดก็ได้ฤกษ์การเรียนการสอนการทำงานของแอคชั่นสคริปกันเสียที ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ล่วงมาถึงเวอร์ชั่น 3.0 กันแล้ว ใครที่อยากอัพเดทความรู้เกี่ยวกับแอคชั่นสคริปจากเริ่มต้นชนิด ลิงยังทำตามได้แล้วล่ะก็ ตามครูปิ๊มาอย่าให้ขาด การเรียนการสอนของเรานั้นไม่ยาก ขอให้ทุกคนพยายามทำความเข้าใจให้พร้อมเพรียงกันด้วยนะครับ ใครมีปัญหาสงสัยล่ะก็ ยกมือถามครูได้เลยนะครับ

ทันใดนั้นเอง ก็มีเด็กชายคนหนึ่งยกมือขึ้น

ครูปิ๊ก: เอ้าว่าไง นาย ASบอย มีอะไรรึ

ASบอย: ครูคร้าบ ผมอยากทำเกมเฟซบุ๊คหาเงินใช้คร้าบ ครูสอนผมด้วยได้ไหมคร้าบ

ครูปิ๊ก: แหม่ เริ่มก็จั่วหัวอย่างนี้เลยเรอะ ได้สิ ครูจะสอนให้ ถึงแม้ว่าพวกเธอจะไม่รู้อะไรเลยก็ตามเถอะ ครูจะสอนให้พวกเธอทำเป็นเลยล่ะ เพียงแค่พวกเธอเข้าใจพื้นฐานก่อนจนมีความรู้แน่น พวกเธอจะทำเกมกี่เกมก็ได้ ดังนั้น ขอให้พวกเธอตั้งใจเรียนพื้นฐานกันให้ดีๆ แล้วเธอจะทำได้ตามที่ต้องการ

ASบอย: ครูคร้าบ ผมไม่รู้อะไรเลยนะครับ แค่รู้จักอุปกรณ์ในโปรแกรมแฟลชไม่กี่ชิ้นเองอ่า แล้วผมจะทำได้จริงเหรอ

ครูปิ๊ก: โถๆๆ เจ้าหนูAS ยังไม่ทันไรก็ถอดใจเสียแล้ว อีแบบนี้จะไปทำอะไรได้เล่า ใจปลาซิวจริงๆ ก็บอกแล้วไงว่าครูจะสอนจนพวกเธอมองภาพรวมออกทั้งหมด แล้วเธอจะรู้ว่า สร้างเกมมันไม่ยากอย่างที่คิด จริงๆ แล้ว ทำอย่างอื่นยังยากกว่าอีก เพียงแต่ พวกเธอต้องรู้จักทำจากเล็กไปใหญ่ นี่สำคัญมากนะ ทำจากเล็กไปใหญ่ จำไว้ ไม่มีใครสร้างกรุงโรมได้ในวันเดียวหรอก

ASบอย: อื้อหือ เห็นภาพเลยครับครู งั้นไม่รอแล้ว ครูสอนเลยดีกว่า

ครูปิ๊ก: ใจเย็นๆ ก่อน ทุกอย่างต้องมีขั้นตอน ทุกอย่างย่อมมีเสต็บของมัน จำไว้ อย่าข้ามเสต็บ พวกที่ก๊อบโค้ดเขามาแล้วเอามาอ่าน กะจะทำตาม สุดท้าย ทำอะไรไม่ได้เพราะทำข้ามเสต็บ ดังนั้น จงทำตามเสต็บ โดยครูจะวางเสต็บให้พวกเธอทีละอย่างเลยล่ะ ด้วยวิธีสอนแบบพิศดาร ที่เดียวที่แรกในประเทศ คือการสอนแบบ แปลอังกฤษเป็นไทย แล้วเวลาใช้ค่อยแปลไทยเป็นอังกฤษ

ASบอย: โอ้ มันคืออะไรครับ แปลอังกฤษเป็นไทย ไทยเป็นอังกฤษ นี่ผมกำลังจะเรียนแอคชั่นสคริปไม่ใช่หรือครับเนี่ย

ครูปิ๊ก: ใช่แล้ว เธอกำลังเรียนแอคชั่นสคริปเนี่ยแหละ ข้อดีของแอคชั่นสคริปคือ มันเป็นภาษาที่คล้ายภาษาอังกฤษ เราจึงสามารถแปลมันเป็นภาษาไทยได้ ส่วนรูปแบบการใช้แอคชั่นสคริปก็ตายตัว ดังนั้น ต่อให้จำรูปแบบไม่ได้ แต่ถ้ารู้ว่าต้องการทำอะไร เราก็สามารถไปค้นหาจากในเน็ตได้ไงล่ะ

ASบอย: ผมว่ามันแปลกๆ นะครับการเรียนการสอนแบบนี้ มันจะได้ผลหรือครับ

ครูปิ๊ก: ได้ไม่ได้ไม่รู้ แต่ข้างนอกครูสอนคิดค่าเรียนคนละ 8000 บาทต่อคอร์สละกัน แต่นี่สอนฟรี ว่าไง จะเรียนไหมเด็กๆ

ASบอย: ... เรียนสิคร้าบ แหม่ เริ่มพร้อมสอนเมื่อไหร่ก็ได้ตามสะดวกเลยนะครับครู

ครูปิ๊ก: ฮึๆ ก่อนเริ่มเรียน รู้ไว้เสียหน่อยละกันนะ ขนาด zynga บริษัทผลิตเกมส์เฟซบุ้คชื่อดัง เขายังเริ่มศึกษาแฟลชจาก 0 แล้วใช้เวลาไม่นาน (น่าจะประมาณ 1 – 3 ปี) ก็ทำเกมจนกระทั่งดังอยู่จนปัจจุบันนี้ ฝรั่งทำได้ เธอก็ทำได้ ไม่ต้องห่วง เอ้อ เอาล่ะ ก่อนอื่นเรามาสรุปหัวข้อประจำวันนี้กันก่อนเลยละกัน



สำหรับความรู้ที่ได้ในวันนี้
1. กรุงโรมไม่ได้สร้างภายในวันเดียว ดังนั้น ทุกอย่างจึงต้องค่อยเป็นค่อยไป จงทำจากเล็กไปใหญ่ อย่าข้ามขั้น
2. ถ้าคิดว่าทำไม่ได้ มันก็ทำไม่ได้ ไม่มีนักวิ่งคนไหนที่ลงสู่สนามแล้วท่องในใจว่า เราต้องแพ้แน่ๆ มีแต่ท่องว่า เราต้องชนะทั้งนั้น ดังนั้นเริ่มท่องซะว่า คุณเองก็ทำได้ แล้วคุณก็จะทำได้
3. แอคชั่นสคริปนั้นเหมือนจะยาก แต่มันมีรูปแบบการใช้งานที่ตายตัว ดังนั้นอย่าไปกลัวภาพลวงที่เห็น จริงๆ แล้ว แอคชั่นสคริปง่ายกว่าที่ทุกคนคิดไว้เยอะทีเดียว


โอเคนะครับทุกคน สำหรับวันนี้ก็พอแค่นี้ เจอกันคาบต่อไปนะครับ
By ครูปิ้ก